Gencon logo
EN

ขั้นตอนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ของพัดลมไฟเบอร์กลาสเบื้องต้น

  1. การบำรุงรักษามอเตอร์
    การบำรุงรักษามอเตอร์โดยพื้นฐาน คือ ความสะอาด และความแห้ง การทำความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งสกปรก และฝุ่น เป็นตัวฉนวนความร้อน ทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนออกจากมอเตอร์ได้ ซึ่งก่อให้เกิดความร้อนที่มากเกินไป (Overheating) ที่มอเตอร์ และทำให้อายุการใช้งานมอเตอร์สั้นลง ดังนั้นจึงควรเป่าสิ่งสกปรก และฝุ่น ออกจากขดลวดมอเตอร์อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้อากาศเป่าแรงดันต่ำ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับขดลวด สำหรับพื้นที่ในการวางมอเตอร์ ควรวางในที่เปิด และแห้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร หากมีความชื้นในขดลวดมอเตอร์ ควรจะรอให้แห้งก่อนใช้

    ในส่วนของสารหล่อลื่นนั้น ควรจะมีการใส่สารหล่อลื่นเป็นประจำตามช่วงเวลาที่แนะนำในคู่มือการใช้งาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดแรงม้าของมอเตอร์ที่ใช้งาน สภาวะความสกปรก และอุณหภูมิขดลวดของมอเตอร์

  2. การบำรุงรักษาสายพาน (V-Belt Drive)
    ในเบื้องต้นให้ทำการตรวจสอบสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เป็นหนามหรือเศษมีคม ที่จะไปสัมผัส หรือไปกีดขวางการทำงานของสายพาน ที่อาจจะทำให้เกิดความชำรุดหรือเสียหายได้ โดยส่งผลให้การทำงานของสายพานมีประสิทธิภาพลดลง และมีอายุการใช้งานที่สั้นลง

    สำหรับการทำความสะอาดสายพาน ให้ใช้ผ้าทรายเนื้อละเอียด หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่แข็งกระด้างหรือมีคมในการทำความสะอาด เพื่อป้องกันสายพานชำรุดเสียหาย

    นอกจากนี้ควรจะตรวจสอบความตึงหรือความหย่อนของสายพานอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าสายพานไม่ได้แนวระดับที่อาจจะเป็นต้นเหตุของการสั่น ให้ติดตั้งสายพานใหม่ให้ได้แนวระดับที่เหมาะสม และหากพบว่าสายพานสึกหรอหรือชำรุด จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบโดยรวม ให้พิจารณาถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนสายพานใหม่ โดยทั่วไปสายพานมีอายุการใช้งานประมาณ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่ในกรณีที่มีการใช้งานพัดลมไฟเบอร์กลาสอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ไม่มีการหยุดพักเครื่อง อาจจะส่งผลให้อายุการใช้งานของสายพานสั้นลงได้

  3. การบำรุงรักษาลูกปืน
    ในการบำรุงรักษาลูกปืนนั้น ควรทำการอัดจาระบีที่ลูกปืน ตามระยะเวลาที่แนะนำในคู่มือการใช้งาน การเติมสารหล่อลื่นในปริมาณที่เหมาะสมพอดีกับตลับลูกปืนจะช่วยให้ลูกปืนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยวิธีการอัดจาระบีให้เหมาะสม คือ หากจาระบีลดลงจากภายในไปเท่าไร ให้เติมเพิ่มไปเท่านั้น ไม่ควรเติมมากเกินไปจนล้น เพราะอาจจะทำให้มีเศษฝุ่นติดเข้าไป และทำให้ตลับลูกปืนร้อนเกินไป (Overheating) อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกปืนเกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจจะส่งผลให้พัดลมไฟเบอร์กลาสมีเสียงดังหรือสั่นในขณะเปิดใช้งาน

    นอกจากนี้การใส่สารหล่อลื่นลูกปืนก่อนปิดเครื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อเก็บรักษา และการหมุนเพลาทุกเดือน ยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดการกัดกร่อนของลูกปืนได้

  4. การบำรุงรักษาใบพัดลมและเพลาขับ
    ตรวจสอบสิ่งสกปรกที่เกาะอยู่ตามใบพัดลมและเพลาขับอย่างสม่ำเสมอ หากมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่ใบพัด อาจจะทำให้เกิดการเสียสมดุล และอาจจะส่งผลให้พัดลมไฟเบอร์กลาสเกิดการสั่นได้ โดยสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการทำความสะอาดใบพัดลม และตรวจสอบสภาพผิวเคลือบไฟเบอร์กลาส หากใบพัดลมสึกหรอ หรือโดนกัดกร่อนจากไอกรด/ไอสารเคมีจนชำรุดเสียหาย พัดลมไฟเบอร์กลาสจะเกิดการเสียสมดุลและอาจจะเกิดการสั่นได้ด้วยเช่นกัน ให้พิจารณาทำการเคลือบไฟเบอร์กลาสใหม่ตามความเหมาะสมของหน้างาน ซึ่งการเคลือบไฟเบอร์กลาสลงไปบนชั้นผิวของใบพัดลมนั้น อาจจะทำให้พัดลมไฟเบอร์กลาสสูญเสียความสมดุลได้ จึงต้องทำการตรวจสอบความสมดุล (Balancing) ของพัดลมไฟเบอร์กลาสใหม่อีกครั้ง โดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเครื่องมือที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้

    นอกจากนี้ต้องตรวจสอบตำแหน่งของสลักเกลียวทุกจุดว่าหลุดหรือไม่ รวมไปถึงความแน่นของสลักเกลียวที่ใช้ในการยึดพัดลมไฟเบอร์กลาส หากพบว่าสลักเกลียวหลวม ให้ขันให้แน่นดังเดิม และควรใช้ปากการะบุ (Mark) ตำแหน่งน็อตหรือน้ำยาล็อคเกลียวน็อต ซึ่งจะช่วยทำให้การตรวจสอบง่ายขึ้น

  5. การบำรุงรักษาโครงสร้าง
    นอกจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อุปกรณ์ที่เป็นโครงสร้างของพัดลมไฟเบอร์กลาสก็ควรจะมีการตรวจสอบเป็นประจำเช่นกัน ได้แก่

    -  ตรวจสอบสปริงหรือส่วนที่รองรับการสั่น Vibration isolators ว่ายังสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
    -  ตรวจสอบโครงสร้างเหล็ก น๊อตล๊อคต่างๆ หากพบว่าหลวม ให้ขันให้แน่น
    -  ตรวจสอบสภาพพื้นผิวคอนกรีตที่เป็นพื้นที่ติดตั้งพัดลม มีรอยแตกร้าวหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นที่รองรับพัดลมไฟเบอร์กลาสยังคงมีความสมบูรณ์